วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561






1. สำนวน ตีนแมว
        ความหมายของสำนวน   หมายถึง พวกย่องเบา
ที่มาของสำนวน
        สำนวนตีนแมว  มีที่มาจากอุ้งเท้าของแมวที่มีขนปกคลุม เวลาเดินหรือกระโดดจึงมีเสียงเบามากจนแทบจะไม่ได้ยิน คนเราจึงนำมาเปรียบกับพวกหัวขโมยหรือพวกย่องเบาต่างๆ
ตัวอย่างการใช้สำนวน
        ปิดหน้าต่าง ประตูบ้านให้ดี เดี๋ยวนี้ พวก ตีนแมว มันเยอะแยะเต็มไปหมด







2. คำพังเพย คางคกขึ้นวอ
        ความหมายของคำพังเพย หมายถึง คนที่มีฐานะต่ำต้อย พอได้ดีก็มักแสดงกิริยาอวดดีลืมตัว
ที่มาของคำพังเพย
        คางคกขึ้นวอ มีที่มาจาก คางคก เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มีรูปร่างคล้ายกบแต่หนังหยาบขรุขระน่าเกลียด  จึงมักเปรียบกันคนต่ำต้อยเมื่อขึ้นไปนั่งบนวอ ซึ่งเป็นยานพาหนะของคนชนชั้นสูง จึงนำมาเปรียบกับคนต่ำต้อยที่ได้ดีแล้วลืมตัว
ตัวอย่างการใช้คำพังเพย
        พอได้สามีเป็นเจ้าของโรงงาน ทำตัวเป็น คางคกขึ้นวอ เชียวนะ






3. สำนวน ไก่อ่อน
       ความหมายของสำนวน หมายถึง  ผู้มีประสบการณ์น้อยยังไม่รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของคน  
ที่มาของสำนวน
       สำนวนไก่อ่อน มีที่มาจากลักษณะของไก่ โดยความหมายไก่อ่อน คือ ไก่ที่ไม่กระด้าง หรือลูกไก่ที่ยังต้องตามแม่เวลาหากิน ไก่อ่อนจึงใช้เปรียบกับคนที่มีประสบการณ์น้อยยังไม่รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของคน
ตัวอย่างการใช้สำนวน
        เธอนี่ทำตัวเป็นพวก ไก่อ่อน จริง ๆ ตามไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมพวกมันหรอก




4. สำนวน น้ำตาลใกล้มด
       ความหมายของสำนวน หมายถึง   ชายอยู่ใกล้หญิงก็ย่อมอดใจนิ่งอยู่ไม่ให้รักกันได้ยาก
ที่มาของสำนวน
       สำนวนน้ำตาลใกล้มด มีที่มาจากการเปรียบเปรยถึงมดเป็นสัตว์ที่ชอบน้ำตาล หากมดอยู่ใกล้น้ำตาลแล้วก็อดไม่ได้ที่จะเข้าใกล้น้ำตาล ปัจจุบันสำนวนนี้มักเปรียบเปรยถึง คู่รักที่ห่างกันไป และไปเจอเพศตรงข้ามคนใหม่ที่ใกล้ชิดกว่า โอกาสที่จะนอกใจก็มีมากขึ้น
ตัวอย่างการใช้สำนวน
        เธอกับเขาเจอหน้ากันทุกวัน ๆ ก็ไม่ต่างกับ น้ำตาลใกล้มด




5. คำพังเพย จระเข้ขวางคลอง
       ความหมายของคำพังเพย หมายถึง  ทำอะไรที่กันท่าหรือขัดผลประโยชน์ผู้อื่น  
ที่มาของคำพังเพย
       คำพังเพยจระเข้ขวางคลอง มีที่มาจากการเดินทางทางน้ำและการที่จระเข้ขึ้นมาขวางคลองส่งผลให้การเดินทางทางน้ำไม่สะดวกจึงเปรียบจระเข้ขวางคลองกับผู้ที่ชอบขัดผลประโยชน์ผู้อื่น
ตัวอย่างการใช้คำพังเพย
        นายจะมาทำตัวเป็น จระเข้ขวางคลอง ไปทำไม ในเมื่อนายก็ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับเรื่องนี้




6. สำนวน ดำเป็นเหนี่ยง
        ความหมายของสำนวน หมายถึง  ดำสนิท
ที่มาของสำนวน
       สำนวนดำเป็นเหนี่ยง มีที่มาจากลักษณะสีของตัวเหนี่ยง เนื่องจากตัวเหนี่ยงมีสีที่ดำ ดังนั้นดำเป็นเหนี่ยงจึงเปรียบได้กับสีที่ดำสนิท
ตัวอย่างการใช้สำนวน
        ผิวของผู้ชายคนนั้น ทำไมถึงได้ ดำเป็นเหนี่ยง ขนาดนี้




7. สุภาษิต สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
       ความหมายของสุภาษิต หมายถึง  ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเป็นอย่างมาก ก็อาจจะพลาดท่าหรือทำผิดพลาดได้
ที่มาของสุภาษิต
       สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง สี่ตีน หมายถึงสัตว์ที่มี 4 ตีน สัตว์เหล่านี้สามารถเดิน วิ่ง หรือปีนป่ายได้มั่นคงกว่าสัตว์ที่มีเพียง 2 ตีน. นักปราชญ์ หมายถึง ผู้รู้ ผู้มีปัญญา เป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจว่ามีความรู้ความสามารถ จะคิด พูด หรือทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ แต่ทั้งสัตว์สี่ตีนและนักปราชญ์ก็มีโอกาสทำเรื่องผิดพลาดได้เช่นกัน
ตัวอย่างการใช้สุภาษิต
       สิ่งที่ได้เจอในวันนี้ เก็บไว้เป็นบทเรียนก็แล้วกัน สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง นับประสาอะไรกับเธอ



8. สำนวน ปั้นน้ำเป็นตัว
       ความหมายของสำนวน หมายถึง  การโกหกปั้นเรื่องราวขึ้นมาโดยไม่มีมูลเหตุของความจริง
 ที่มาของสำนวน
       สำนวนปั้นน้ำเป็นตัว มีที่มาจากการเปรียบเปรยถึงน้ำอุณหภูมิปกติ ไม่สามารถที่จะปั้นให้เป็นรูปร่างได้ แต่คนที่เล่าเรื่องนั้น เล่าให้คนอื่นฟังว่าเค้าสามารถปั้นน้ำให้เป็นตัวได้จึงเป็นการโกหกสร้างเรื่อง
ตัวอย่างการใช้สำนวน
        เด็กผู้หญิงในนิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะชอบ ปั้นน้ำเป็นตัว พูดโดยไม่มีมูลเหตุของความจริง



9. สำนวน ตาเป็นสับปะรด
       ความหมายของสำนวน หมายถึง  มีพรรคพวกที่คอยสอดส่องเหตุการณ์ให้อยู่รอบข้าง
ที่มาของสำนวน
       สำนวนตาเป็นสัปปะรด มีที่มาจากการเปรียบเปรยถึงผลสับปะรด ที่มีตาอยู่รอบผลเป็นจำนวนมาก
ตัวอย่างการใช้สำนวน
        เธอจะทำอะไรก็ระมัดระวังเอาไว้ให้มากๆ เดี๋ยวนี้คน ตาเป็นสับปะรด





10. สำนวน เจ๊กตื่นไฟ
        ความหมายของสำนวน หมายถึง  ตื่นตกใจและเอะอะโวยวายเกินกว่าเหตุที่เกิดขึ้น
ที่มาของสำนวน
       สำนวนเจ๊กตื่นไฟ มีที่มาจากลักษณะของคนจีนที่มีการพูดคุยกันเสียงดัง
ตัวอย่างการใช้สำนวน
        เรื่องมันยังไม่เกิดขึ้นเลย เธออย่าทำตัวเป็นพวก เจ๊กตื่นไฟ ไปได้






11. คำพังเพย เจ้าชู้ประตูดิน
       ความหมายของคำพังเพย หมายถึง  ผู้ชายเจ้าชู้ที่ชอบเตร็ดเตร่บริเวณหน้าบ้านผู้หญิง
ที่มาของคำพังเพย
       เจ้าชู้ประตูดิน ประตูดิน คือ ประตูศรีสุดาวงศ์ในพระบรมมหาราชวังเป็นประตูทางเข้าออกเขตชั้นใน ซึ่งเป็นที่อยู่ของบรรดาหญิงชาววัง ซึ่งผู้ชายเข้าไม่ได้ หนุ่มๆที่อยากดูสาวชาววังก็ต้องรอตอนสาวชาววังออกมาจับจ่ายซื้อหาข้าวของนอกประตู
ตัวอย่างการใช้คำพังเพย
        ผู้ชายสมัยนี้ เจ้าชู้ประตูดิน ผู้หญิงอย่างเราดูให้ดี



12. สำนวน ใจพระ
       ความหมายของสำนวน หมายถึง  ใจดี
ที่มาของสำนวน
       สำนวนใจพระ มีที่มาจากลักษณะวิสัยของพระภิกษุสงฆ์ ที่มีศีล มีจิตใจที่ดี มีเมตตา
ตัวอย่างการใช้สำนวน
        จิตใจของเธอนี่เปรียบเหมือน ใจพระ เชียวล่ะ ชอบช่วยเหลือมีน้ำใจต่อบุคคลรอบข้าง





13. สำนวน ช้างเท้าหน้า
       ความหมายของสำนวน หมายถึง  การเป็นผู้นำ
ที่มาของสำนวน
       สำนวนช้างเท้าหน้า มีที่มาจากลักษณะการเดินของช้างที่ก้าวเท้าหน้าก่อนซึ่งเป็นการนำเท้าหลังให้ก้าวตามเปรียบกับการเป็นผู้นำ
ตัวอย่างการใช้สำนวน
        ในครอบครัวของฉัน คุณพ่อ ก็เปรียบเสมือนเป็น ช้างเท้าหน้า ที่นำพาพวกเราไปเจอแต่สิ่งที่ดี ๆ





14. สำนวน ช้างเท้าหลัง
       ความหมายของสำนวน หมายถึง  การเป็นผู้ที่คอยทำตามด้วยความเชื่อถือและความเข้าใจ
ที่มาของสำนวน
       สำนวนช้างเท้าหน้า มีที่มาจากลักษณะการเดินของช้างที่ก้าวเท้าหลังตามเท้าหน้า เปรียบกับผู้ตาม
ตัวอย่างการใช้สำนวน
        ในครอบครัวของฉัน คุณแม่ ก็เปรียบเสมือน ช้างเท้าหลัง ที่คอยเดินตามคุณพ่อ




15. สำนวน เด็กอมมือ
        ความหมายของสำนวน หมายถึง คนที่ไม่รู้ประสีประสา
ที่มาของสำนวน
        สำนวนเด็กอมมือ มีที่มาจาก ลักษณะของเด็กทารกที่มีนิสัยชอบอมมือ จึงเปรียบกับผู้ที่ไม่รู้ปะสีประสา
ตัวอย่างการใช้สำนวน
        ปีนี้อายุก็ปาเข้าไปจะ 20 ปีแล้ว ยังทำตัวเป็น เด็กอมมือไปได้




16. สำนวน ตาร้อนตาไฟ
        ความหมายของสำนวน หมายถึง  ความอิจฉาริษยา
ที่มาของสำนวน
       สำนวนตาร้อนตาไฟ มีที่มาจากอาการของคนที่อิจฉาคนอื่นมากๆ จนบริเวณตาเริ่มแดง จองมองด้วยความอิจฉา
ตัวอย่างการใช้สำนวน
        เห็นฉันได้ดิบได้ดีหน่อยไม่ได้ ถึงกับต้องแสดงอาการ ตาร้อนตาไฟ เลยนะ




17. สำนวน ดอกไม้ใกล้ทาง
        ความหมายของสำนวน หมายถึง  หญิงใจง่ายที่ใครผ่านไปผ่านมาก็เชยชมได้
ที่มาของสำนวน
       สำนวนดอกไม้ใกล้ทาง มีที่มาจากดอกไม้ที่อยู่ริมข้างทางถนนสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าดูก็ไร้ราคาใครผ่านไปมาก็สามารถเด็ดได้เมื่อเทียบกับดอกไม้ที่อยู่ในร้านหรือที่สวยๆงามๆจึงนำมาเปรียบกับหญิงใจง่ายที่ใครผ่านไปผ่านมาก็เชยชมได้
ตัวอย่างการใช้สำนวน
        ผู้หญิงคนนั้นก็เปรียบเสมือน ดอกไม้ใกล้ทาง ที่ผู้ชายคนไหนผ่านไปผ่านมา จะเด็ดขึ้นมาเชยชม ดมกลิ่นหอมจนเบื่อ แล้วก็โยนทิ้งไปอย่างไร้ค่า




18. คำพังเพย ชายสามโบสถ์       
       ความหมายของคำพังเพย หมายถึง ผู้ที่บวชแล้วสึกแล้วบวชอีกถึง 3 ครั้ง
ที่มาของคำพังเพย
       ชายสามโบสถ์ มีที่มาจากการบวชแล้วสึกแล้วบวชอีกถึง 3 ครั้งของผู้ชาย โบราณมองว่าเป็นคนโลเลไม่มั่นคง
ตัวอย่างการใช้คำพังเพย
        เธออย่าคิดเอา ชายสามโบสถ์ มาเป็นคู่ชีวิตเชียวล่ะ ชีวิตนี้ทั้งชีวิตคงหาความสุขไม่ได้





19. คำพังเพย เฒ่าหัวงู

        ความหมายของคำพังเพย หมายถึง คนแก่ที่มีความเจ้าเล่ห์
ที่มาของคำพังเพย
       เฒ่าหัวงู มีที่มาจาก ความเชื่อของศาสนาคริสต์ งู คือ สัญลักษณ์แห่งความบาป และกามอารมณ์
ตัวอย่างการใช้คำพังเพย
        ผู้ชายคนนี้อายุมากแล้ว ทำไมไม่ทำตัวให้น่าเคารพนับถือ กลับทำตัวเป็น เฒ่าหัวงู ไปได้







20. สุภาษิต ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว

        ความหมายของสุภาษิต หมายถึง  ทำอะไรไม่ดีไว้กับผู้อื่น สิ่งนั้นก็จะย้อนมาเกิดกับเราเหมือนกัน
 ที่มาของสุภาษิต
       มาจากพุทธศาสนสุภาษิต ที่ว่า “ ทุกขะโต ทุกขะถานัง “  แปลว่า ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว
  ตัวอย่างการใช้สุภาษิต
        คนเราทำอะไรลงไป ก็ได้อย่างนั้น เหมือนสุภาษิตที่ว่า ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว

 บรรณานุกรม 
       นิคม  เขาลาด. (2536). สุภาษิต คำพังเพย. กรุงเทพฯ : วิสิทธิ์พัฒนา.
       อานนท์ อาทิตย์อุทัย. ( 2558 ) สำนวนไทย สำนวนธรรม. กรุงเทพฯ : แสงดาว.

จัดทำโดย
  นายอัฐพล        ปลอดสันเทียะ   รหัส   5941010039
                                                     นายกิติภูมิ        บุญสุดี              รหัส   5941010049                                                      


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น